Pharma-Sea

Hero for Zero Contamination

Yellow Facebook Icon

จุดเริ่มต้นของการปั่นจักรยานเก็บยาเหลือใช้

มีจิตอาสา และไม่ปล่อยผ่านในสิ่งที่คิดว่าจะช่วยแก้ไขได้

จาก กิจกรรม “ปั่นปันยา” เก็บยาเหลือใช้เพื่อโรงพยาบาลอุ้มผางจังหวัดตาก โดยชมรมจักรยานวันอาทิตย์จังหวัดพิษณุโลก

ผศ.ดร.ภก.ดำรงศักดิ์ เป๊กทอง ได้ขยายผลมาเป็นการทำโครงการการจัดการยาเหลือใช้ในชุมชนอย่างเป็นระบบ (PharmaSea Project) ที่ได้รับการสนับสนุนจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อลดปัญหาการมียาเหลือใช้สะสมในครัวเรือน ส่งเสริมการใช้ยาอย่างถูกต้อง ลดการปนเปื้อนของยาในสิ่งแวดล้อมจากการกำจัดยาไม่ถูกวิธี และลดค่าใช้จ่ายด้านยาให้กับโรงพยาบาลที่ขาดแคลน เริ่มจากกิจกรรมปั่นจักรยานเก็บยาเหลือใช้ในชุมชน ร่วมกับคณาจารย์ นิสิตคณะเภสัชศาสตร์และทีมนักปั่นจักรยานอาวุโสในจังหวัดพิษณุโลก


ปั่นจักรยานเก็บยาเหลือใช้ชุมชนเล็กๆ รอบมหาวิทยาลัยนเรศวร ในปี 2564 ผู้ร่วมกิจกรรมลงพื้นที่ไปเก็บยาเหลือใช้ในครัวเรือน รวมถึงการประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านนำยาเหลือใช้มาบริจาคยา เพื่อนำเข้ากระบวนการจัดการยาเหลือใช้อย่างเหมาะสม คัดแยกยาหมดอายุ ยาเสื่อมสภาพมากำจัดอย่างถูกวิธี และนำส่งยายังไม่หมดอายุและมีสภาพบรรจุภัณฑ์สมบูรณ์ดี พร้อมส่งต่อยาเหล่านี้สู่โรงพยาบาลที่ขาดแคลน เช่น โรงพยาบาลอุ้มผาง โรงพยาบาลท่าสองยาง จ.ตาก รพ.วัดจันทร์เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จ.เชียงใหม่ เป็นต้น

เส้นทางการทำโครงการจัดการยาเหลือใช้

ปั่นต่อไป ไม่มีหยุด

การเก็บยาเหลือใช้ โครงการ PharmaSea เริ่มการดำเนินการมาตั้งแต่ ปลายปี 2564 ได้มีการประชาสัมพันธ์โครงการสู่เวทีสาธารณะ เช่น งานประชุมวิชาการกลุ่มเภสัชกรภาคเหนือ ปี 2565 เพื่อกระตุ้นให้พี่น้องร่วมวิชาชีพ ได้ตระหนักถึงปัญหายาเหลือใช้ และเริ่มทำกิจกรรมในพื้นที่ของตนเอง การดำเนินการของโครงการการจัดการยาเหลือใช้อย่างเป็นระบบ ดำเนินการภายใต้ชื่อ PharmaSea มีการจัดกิจกรรมปั่นเก็บยาอย่างต่อเนื่อง จากพื้นที่รอบๆ มหาวิทยาลัย ขยายไปเป็นพื้นที่ในตำบลใกล้เคียง และในต่างอำเภอ ได้แก่ อำเภอวังทอง อำเภอบางระกำ และอำเภอพรหมพิราม ในการทำกิจกรรมทุกครั้งได้รับความร่วมมือจากเภสัชกรโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่ รพ.สต ผู้นำชุมชน อสม.จนถึงชาวบ้านที่เป็นเจ้าของยาเหลือใช้ นอกจากการลงพื้นที่เพื่อเก็บรวบรวมยาแล้ว โครงการยังมีกิจกรรมที่ส่งเสริมในประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมในการจัดการยาเหลือใช้อย่างเหมาะสม โดยประชาสัมพันธ์ในสื่อต่างๆ ทั่วประเทศ เชิญชวนให้ประชาชนส่งยาเหลือใช้มาเข้าร่วมโครงการ และตั้งจุดรับคืนยาในโรงพยาบาล ร้านยา และภายในคณะเภสัชศาสตร์ เพื่อนำมาจัดการอย่างเหมาะสมต่อไป

จุดรับคืนยาเหลือใช้

จุดที่ให้บริการรับยาเหลือใช้คืน มีดังนี้

  • ห้องยาผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


  • คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร สถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชน สาขา 1 (ทางออก โรงเรียนมัธยมสาธิตฯ )


  • คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร สถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชน สาขา 2 (ทางออกประตู 4 มหาวิทยาลัยนเรศวร)


  • ร้านโฟกัส ปริ้นติ้ง หลังโรงเรียนเฉลิมขวัญสตรี


  • โรงพยาบาลบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก


  • โรงพยาบาลพิษณุเวช จังหวัดพิจิตร

สามารถส่งยาเหลือใช้มาทางไปรษณีย์

ชื่อผู้รับ ผศ.ดร.ภก.ดำรงศักดิ์ เป๊กทอง (ยาเหลือใช้)

ที่อยู่ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร 99 หมู่ 9

ต.ท่าโพธิ์ อ.เมือง จ.พิษณุโลก 65000

การคัดแยก นำส่งต่อยาเหลือใช้ไปโรงพยาบาลต่างๆ ที่มีความต้องการ และนำไปทำลาย

ยาเหลือใช้ที่รวบรวมได้จากแหล่งต่าง ๆ นำเข้ามาสู่กระบวนการคัดแยกยาเป็นยาสภาพดี พร้อมใช้งานและยาหมดอายุหรือยาสภาพไม่สมบูรณ์เพื่อนำส่งไปกำจัดที่บริษัท N15 technology อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี ซึ่งให้ความร่วมมือในการช่วยกำจัดยาเหลือใช้โดยไม่คิดมูลค่า โดยขยะจากยาจะถูกเผาที่ความร้อนสูง ทำเป็นเชื้อเพลิงทดแทนถ่านหินเพื่อเผาในเตาเผาปูนซีเมนต์ได้นั่นเอง

คัดแยกยา

เผาทำลาย

ส่งต่อยาดีให้โรงพยาบาล

ผู้ดำเนินโครงการได้พัฒนาขั้นตอนการจัดการยาจำนวนมากที่ได้รับมา เพื่อให้กระจายไปยังโรงพยาบาลปลายทางได้อย่างทันท่วงที โดยการนำโปรแกรมการจัดการคลังสินค้ามาประยุกต์ใช้ บันทึกรายการยาลงใน Google form เพื่อส่งต่อให้โรงพยาบาลที่ต้องการยารับทราบถึงรายการยาที่มี เพื่อประสานงานการแจ้งความจำนงและจัดส่งยาต่อไป

SUCCESS

story

2023

ถูกเสนอชื่อผลงานเข้าชิงรางวัล THE Awards Asia 2023 จัดโดย Times Higher Education (THE), Unites Kingdom สาขาผลงานที่โดดเด่นในการพัฒนาภูมิภาค (Outstanding Contribution to Regional Development) จากผลงาน PharmaSea: Saving the Medicine & saving the Sea!

2023

รางวัลเภสัชกรดีเด่น สาขาการประยุกต์ใช้วิชาชีพเภสัชกรรมให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม ประจำปี 2566 จากเภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

2024

รางวัลผลงานวิจัยด้านการพัฒนาสังคม หรือผลงานวิจัยที่มีการนำไปใช้​ประโยชน์และมีผลกระทบต่อสังคม ชุมชน และพื้นที่อย่างโดดเด่น: รางวัล ​พญ.ปิยะชนก อึ้งภากรณ์

ผลงาน "การพัฒนาระบบการจัดการยาเหลือใช้อย่างยั่งยืนในประเทศไทย"

2024

รางวัลชนะเลิศ ประเภทผลงานที่โดดเด่นในการพัฒนาภูมิภาค จาก ในการจัด​กิจกรรมการประกวด NU Star Awards ภายใต้โครงการส่งเสริมผลงานวิชาการ​ก้าวสู่ระดับสากล จาก มหาวิทยาลัยนเรศวร

เปลี่ยนยาเหลือใช้ให้เกิดประโยชน์กับสังคม

ปริมาณยาโดยรวมที่เก็บรวบรวมได้จากการจัดกิจกรรมตลอด 4 ปีคิดเป็นปริมาณยากว่า 6 ล้านเม็ดและ 100,000 หน่วย (ยาฉีด ยาน้ำ ยาสูดพ่น ยาแผ่นแปะ รวมถึงยาใช้ภายนอกอื่นๆ) ปริมาณยาที่ส่งต่อให้กับโรงพยาบาลต่างๆ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 4 ล้านบาท ยาหมดอายุที่ส่งเผาทำลายกว่า 3 ล้านเม็ด ผลพลอยได้จากการดำเนินโครงการ คือ การให้นิสิตได้เข้ามาช่วยในการจัดการ นิสิตได้เรียนรู้ปัญหายาเหลือใช้ เกิดความตระหนักถึงผลที่เกิดขึ้น และนิสิตได้เรียนรู้การจัดการยาอย่างเหมาะสม การคัดแยกยา การจัดหมวดหมู่ยา และการจัดทำสินค้าคงคลัง ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่ได้มาจากการลงมือทำ รวมถึงการถ่ายทอดกิจกรรมผ่าน สหพันธ์นักศึกษาและนิสิตเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย (สนภท.) เพื่อให้นิสิต นักศึกษาเภสัชศาสตร์ทั่วประเทศทราบถึงบทบาทและมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมดังกล่าว

มองไปข้างหน้าสู่ความยั่งยืนของโครงการ “ ปั่นเป็นทีม ”

โดยเป้าหมายสำคัญของโครงการ หวังให้เกิดการพัฒนาระบบที่ยั่งยืนสำหรับการจัดการยาเหลือใช้ในชุมชน สร้างโมเดลต้นแบบสำหรับการจัดการยาเหลือใช้ภายในจังหวัดพิษณุโลก และนำไปสู่กระบวนการบริหารจัดการยาเหลือใช้ที่มีประสิทธิภาพในระดับประเทศต่อไปในอนาคต เริ่มตั้งแต่การเริ่มการค้นหาครัวเรือนที่มียาเหลือใช้เกินจำเป็น กระบวนการเก็บคืนยาที่มีประสิทธิภาพ ระบบการจัดเก็บและกระจายยาไปยังสถานพยาบาลที่ขาดแคลนยา สำหรับนำไปใช้เพื่อประโยชน์ของผู้ป่วยและลดค่าใช้จ่ายด้านยา นำความรู้และทักษะด้านเภสัชกรรมมาใช้ในการพิสูจน์คุณภาพยาเหลือใช้ เพื่อยืนยันประสิทธิภาพของยาและทำให้เกิดความมั่นใจในความปลอดภัยของยาก่อนนำกลับไปใช้ใหม่ รวมถึงการทำลายยาเหลือใช้อย่างถูกต้อง ตามหลักการทางเภสัชกรรม ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการลดปัญหาการปนเปื้อนของยาในสิ่งแวดล้อม


Pharma-Sea

Hero for Zero Contamination

ผศ.ดร.ภก.ดำรงศักดิ์ เป๊กทอง และคณะ

Email

dumrongsakp@nu.ac.th

ผศ.ดร.ภก.ดำรงศักดิ์ เป๊กทอง (อ.ตุลย์)

หัวหน้าโครงการ


ผศ.ดร.ภญ.ดารณี เชี่ยวชาญธนกิจ (อ.หนิง)

หัวหน้าทีมวางแผนและสร้างผลกระทบเชิงสังคม



ณฐพบธรรม พบธรรมเจริญใจ (วูดดี้)

หัวหน้าทีมประสานงานโรงพยาบาล


นิกร มัตยะสุวรรณ (พี่หมู)

หัวหน้าทีมนักปั่น (ปันยา)



จิตตรีพร คล้ายแท้

นักวิชาการศึกษา


วิเรืองลอง ปัญญาอินทร์

เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป



วัลลพ ช้างไผ่

นักวิชาการพัสดุ


พุธิตา วงนะที

นักประชาสัมพันธ์


อรวรรณ ศรีสุวรรณ

นักประชาสัมพันธ์

ขอขอบคุณนิสิต คณาจารย์และเจ้าหน้าที่

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร